รู้หรือไม่?  'โรคสุกใสเป็นซ้ำได้อีก' !!


2,560 ผู้ชม

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ โรคสุกใส อย่างใกล้ชิด


 

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ โรคสุกใส อย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคนี้เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้ง โดยปีนี้เพียง 6 เดือน พบผู้ป่วยแล้ว 6.3 หมื่นราย เฉลี่ยวันละ 350 รายสูงกว่าปี 2556 จำนวน 3 เท่าตัว และเสียชีวิต 1 ราย ย้ำให้ถ้ามีไข้ ผื่นหรือตุ่มใส ให้หลีกเลี่ยงกินยาแอสไพรินลดไข้ และหากมีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัวมาก หายใจหอบ ชัก ซึมลง ต้องรีบพบแพทย์

นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  ในปี 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ป่วย โรคสุกใส เพิ่มมากขึ้นกว่าทุกๆ ปี โดยในรอบ 6 เดือน  ตั้งแต่มกราคม – มิถุนายนสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยทั่วประเทศรวม 63,510 ราย เฉลี่ยวันละประมาณ 350 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 7-24 ปีพบเกือบร้อยละ50 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 พบว่าตลอดทั้งปี มีรายงานผู้ป่วย 49,398 ราย เฉลี่ยวันละ 135 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กล่าวได้ว่าจำนวนผู้ป่วย โรคสุกใส ในปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วเกือบ 3 เท่าตัว ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวัง โรคสุกใส อย่างใกล้ชิด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันการเจ็บป่วย และให้โรงพยาบาลทุกแห่งเพิ่มมาตรการการดูแลผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนอื่น หากติดเชื้อและป่วยจะมีอาการรุนแรงได้มาก

นายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคสุกใส หรือโรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา (Varicella) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายทางการไอ จาม  หายใจรดกัน หรือการสัมผัส รวมทั้งการใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ที่นอน ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น อาการป่วยที่พบหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์ เด็กเล็กจะเริ่มจากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่  จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัด  มีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้หรือขึ้นหลัง
มีไข้ 1 วัน บางรายมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย  โดยในระยะแรกจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มใส และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขุ่นคล้ายหนอง แล้วกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว แผ่นหลัง และช่องปาก หลังจากนั้นประมาณ  2-3 วัน ผื่นจะตกสะเก็ด สำหรับการรักษานั้น ในรายที่เป็นไม่มาก อาจดูแลตัวเองที่บ้านได้ตามอาการ เช่น หากมีไข้ ให้รับประทานยาพาราเซตามอล หากมีอาการคันให้ใช้ยาทา เพื่อลดอาการคันในรายที่มีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัวมาก มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เช่น หายใจหอบ  ชัก  ซึมลง  ต้องรีบพบแพทย์

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากติดเชื้ออาจมีความเสี่ยงอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง  เช่น  ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี /เอดส์  มะเร็ง เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง  ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อดูแลรักษา ลดความรุนแรงโรค สำหรับการป้องกันโรคนี้ ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนผื่นขึ้นจนถึงระยะผื่นตกสะเก็ด เด็กที่เป็น โรคสุกใส ควรหยุดไปโรงเรียน จนกว่าผื่นตกสะเก็ดหมดแล้วอย่างน้อย 1 วัน การป้องกันที่ได้ผลในปัจจุบันคือการฉีดวัคซีนป้องกัน
วัคซีนนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ดีในเด็กอายุ 1-12 ปี

รู้หรือไม่?  \

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า  สิ่งที่สำคัญที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับ โรคสุกใส คือ

  1. โรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะเด็ก
  2. คนที่เคยเป็นโรคสุกใสแล้ว หากได้รับเชื้อสายพันธุ์ใหม่อาจป่วยซ้ำได้อีก
  3. ส่วนใหญ่ที่เป็น โรคสุกใส จะหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่บางคนอาจไม่หาย เนื่องจากติดเชื้อแทรกซ้อน ทำให้มีอาการต่างๆ เช่น แก้วหูอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ หรือติดเชื้อในสมอง ถ้ารับการรักษาช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้
  4. โรคสุกใส สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนร้อยละ 90 โดยวัคซีนช่วยลดความรุนแรงอาการป่วยได้
  5. หากมีไข้ขึ้นสูง ควรรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ร่วมกับใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ เพื่อบรรเทาอาการไข้
  6. ไม่รับประทานแอสไพรินลดไข้ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่เรียกว่าไรย์  ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของสมองและตับทำให้มีอาการสมองอักเสบร่วมกับตัวเหลือง จนเกิดอันตรายร้ายแรงได้
  7. ทายาลดอาการคันตามที่แพทย์แผนปัจจุบันสั่ง
  8. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดีมีประโยชน์ไปสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับเชื้อ และที่สำคัญคือต้องพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ

ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค โทร. 02 590 3163 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 คุณอาจกำลังสนใจสิ่งนี้

ผิวขาวใส ในราคาประหยัด

5 วิธีเลือกเครื่องประทินผิว ให้ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ถั่วพิสตาชิโอ ต้านโรคเบาหวาน

ดื่มน้ำเย็นจัด ตายได้จริงหรือ?

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่กินอาหารเช้า?

อัพเดทล่าสุด