บัณฑิตน้อย ความบ้าใบ ของการศึกษาไทย


2,463 ผู้ชม


บทความนี้เป็นบทความจาก ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง ที่เขียนลงในมติชนฯ ชื่อบทควม บัณฑิตน้อย  ความบ้าใบ ของการศึกษาไทย ซึ่งเราเห็นว่าเป็นบทความที่ร่วมสมัย และช่วงนี้เรื่องราวของ "บัณฑิตน้อย" ก็กลับมาเป็นประเด็นพูดถึงกันอีก คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงมีประสบการณ์ร่วมกันมาบ้างกับกิจกรรมบัณฑิตน้อยของลูกๆ อ่านแล้ว มีความคิดเห็นอย่างไร กับกิจกรรมนี้ ร่วมพูดคุย ร่วมแชร์กันได้นะคะ

บัณฑิตน้อย  ความบ้าใบ  ของการศึกษาไทย

ชาวบ้านในท้องถิ่นภาคใต้เรียกพืชสวนครัวทุกชนิดที่ปลูกไว้เพื่อหวังกินผลเช่นพริก มะเขือ แตงกวา ที่เพียรปลูกและรดน้ำ พรวนดิน แต่เมื่อถึงคราวที่ควรจะออกดอกออกผล มันกลับมีแต่ใบ ไม่มีดอกไม่มีผล หรือมีก็น้อยเต็มที ว่ามัน "บ้าใบ" ให้อารมณ์รู้สึกผิดหวังที่มันเขียวครึ้ม งดงาม แต่ไม่มีผลผลิต ทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์แห่งการเพาะปลูกที่เจตนาไว้
ปรากฏการณ์  บัณฑิตน้อย  ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ตอนนี้มีลักษณะเช่นนั้น เป็นเรื่องที่ "ขันขื่น" (คือไม่รู้จะขำหรือจะขมขื่นดี) ในห้วงพัฒนาการที่การศึกษาของประเทศเรามีปัญหาสารพัดสารเพ เรามักจะสนใจ "เปลือกนอก" มากกว่า "แก่นแท้" เรามักจะพะรุงพะรังไปด้วยเรื่องที่ไม่จำเป็น เหมือนที่ท่านอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้กล่าวถึงด้วยบทความที่ตรงไปตรงมาของท่านแล้ว ซึ่งมีความหมายส่วนหนึ่งได้ความว่า โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการก็ "พะรุงพะรัง" ไปด้วยส่วนราชการที่ไม่จำเป็นมากมายก่ายกอง ล้วนแต่สิ้นเปลืองงบประมาณของแผ่นดิน เป็นลักษณะของต้นไม้ที่บ้าใบ หาลูกหาผลไม่เจอ
ผู้เขียนเขียนบทความนี้มาเพื่อฟันธงตรงๆ ว่าเรื่องบัณฑิตน้อยนี้...ไม่เห็นด้วย โดยให้น้ำหนักเรื่อง "ค่านิยมที่ไม่ควรส่งเสริม" แก่สังคม ทั้งผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและเด็กนักเรียน มากกว่าที่จะให้น้ำหนักเรื่องความสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเวลา
ค่านิยมสำคัญมากนะครับ ค่านิยมเป็นพฤติกรรมของจิต (Covert Behavior) เป็นพฤติกรรมส่วนที่จะเป็นพฤติกรรมนำทางของพฤติกรรมอื่นๆ อีกหลายพฤติกรรม หากบุคลหนึ่งๆ ยึดถือค่านิยมที่ดีที่ควร ชีวิตบุคคลนั้นก็จะดีไปหลายเรื่อง ในทางกลับกัน หากเผลอไปยึดมั่นถือมั่นค่านิยมที่ผิด ชีวิตบุคคลนั้นก็จะบิดเบี้ยวไปได้หลายอย่างเช่นกัน หากค่านิยมไม่สำคัญในระดับมากจริง คสช.คงไม่เริ่มจากการคิกออฟค่านิยม 12 ประการ เข้าสู่สถานศึกษาของไทยทั้งประเทศ แบบปูพรมเพื่อสร้างพฤติกรรมทางความคิดทั้ง 12 ประการ ให้เกิดแก่เยาวชนเหมือนที่เรารับรู้รับทราบแล้ว
ค่านิยมการจัดกิจกรรมรับวุฒิการศึกษาแบบบัณฑิตน้อยสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมให้น้อยลงและเลิกในที่สุดตามที่ได้รับทราบความเห็นทั้งจากผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ปกครองว่าสถานศึกษาจัดกิจกรรมนี้ทำไม พอวิเคราะห์เหตุผลได้ 3 ประการหลัก คือ
1.เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เด็กและผู้ปกครอง ผู้เขียนอยากจะโต้แย้งว่า หากไม่จัดพิธี ไม่มีการสวมชุดครุยและถ่ายรูป เราก็สร้างความภาคภูมิใจให้แก่เด็กๆ ของเราได้ และทำได้ทุกวันด้วย เด็กๆ ทำการบ้านถูกและครบตามจำนวน เราก็ชื่นชมให้เด็กภาคภูมิใจในตัวเองได้ เด็กส่งชิ้นงานที่ดี สวยงาม มีคุณภาพตามที่ครูมอบหมาย เราก็ชื่นชมให้เกิดความภาคภูมิใจได้ เด็กพูดจาไพเราะ มีสัมมาคารวะต่อผู้ปกครองและคุณครู เราก็เสริมแรงให้เด็กภาคภูมิใจในตนเองได้ แค่ใบวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตร หรือใบระเบียนธรรมดาๆ ที่แสดงว่าจบอนุบาลแล้ว จบประถมศึกษาแล้ว จบมัธยมต้นแล้ว จบมัธยมปลาย หรือจบ ปวช.แล้ว ครูก็สามารถพูด อธิบาย กระตุ้นให้เขาภาคภูมิใจได้แล้วมิใช่หรือ ทำไมต้องมีพิธีรีตองอะไรมากมาย
2.เพื่อแสดงความยินดีที่สำเร็จการศึกษา ตรงนี้แหละที่ผู้เขียนรู้สึกว่า "ขันขื่น" มากที่สุด ถึงแม้ผู้เขียนจะเป็นผู้สอนในระดับอุดมศึกษา แต่ก็ไม่เคยปฏิเสธว่าการจบอนุบาล ป.6 ม.3 ไม่ใช่ความสำเร็จของคนคนหนึ่งที่เข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ชีวิตของเยาวชนที่เรียนมาได้เพียงอนุบาล เพียงประถมหรือมัธยมต้นนั้น ยังมีอีกยาวไกลมากที่จะมาเอ่ยคำว่า "ประสบความสำเร็จในการศึกษา" อย่างเด็กที่จบอนุบาลเขาแค่พออ่านออกเขียนได้เท่านั้น มันจะอะไรกันนักกันหนาที่จะต้องมาแต่งชุดครุย แต่งหน้าทำผม ซื้อช่อดอกไม้มามอบให้แก่กัน แล้วถ่ายรูปบรรจุกรอบ
อย่างดี
3.เป็นความต้องการของผู้ปกครองและเป็นความสมัครใจ ในประเด็นนี้ผู้เขียนอยากบอกว่าผู้ปกครองก็คือชาวบ้านที่เป็นเพื่อนร่วมสังคมร่วมประเทศชาติกับเรา หากสถานศึกษาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการ ก็อธิบายเขาซิครับ จะเอาใจในเรื่องที่ไม่ควรเอาใจกันไปถึงไหน ทีเรื่องที่ต้องบริการให้ดีที่สุดนั่นคือการสอนหนังสือให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ทุกทักษะที่หลักสูตรกำหนดอย่างมีคุณภาพ...เราได้ทำอย่างเต็มที่หรือไม่...ขอถาม?ผู้เขียนเคยพะอืดพะอมและเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมากในคราวที่ได้รับจดหมายจากโรงเรียนของลูกเพื่อถามความสมัครใจเรื่องการขออนุญาตให้ลูกเข้าร่วมพิธีรับวุฒิบัตรป.6ในลักษณะที่จัดรับวุฒิบัตรแบบบัณฑิตน้อย
ผู้เขียนได้แสดงความเห็นกับลูกว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมแบบนี้ พร้อมทั้งได้อธิบายลูกว่าทำไมพ่อไม่เห็นด้วย หลังจากอธิบายลูกแล้ว ได้ถามลูกว่าจะให้พ่อตอบช่องไหน เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม นาทีนั้นสังเกตเห็นสีหน้าของลูกเศร้าหม่นลง แล้วพูดว่า เพื่อนๆ ในห้องของลูกเขาเข้าร่วมกันทุกคน
นี่แหละที่บอกว่าพะอืดพะอม เพราะไม่ต้องการให้ลูกเสียใจที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมและถ่ายรูปกับเพื่อนๆ ไม่ต้องการให้ลูกแปลกแยกจากเพื่อนๆ ของเขาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ในวันจัดพิธีของโรงเรียน ผู้เขียนได้คุยกับเพื่อนๆ ผู้ปกครองหลายคนที่สะท้อนความรู้สึกออกมาว่า เขาก็ไม่อยากเข้าร่วมเหมือนกัน ด้วยเหตุผลหลักคือรูปแบบของกิจกรรมไม่เหมาะกับระดับการศึกษาที่ลูกสำเร็จ เรื่องสิ้นเปลืองเป็นเรื่องรอง เนื่องจากค่าเช่าชุดครุยนั้นเพียง 300 บาท และมีค่ามัดจำที่ได้รับคืนเมื่อคืนครุยอีก 300 บาท แต่ก็ตัดสินใจเข้าร่วมด้วยเหตุผลเดียวกันคือสงสารลูก
กรณีเรื่องที่สถานศึกษาอ้างว่าเป็นความสมัครใจของผู้ปกครองผู้ปกครองมีเสรีภาพที่จะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้นั้นผู้เขียนคิดว่าการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กนักเรียน และในส่วนที่เชื่อมโยงกับการตัดสินใจของผู้ปกครองนั้นมันมีเรื่องละเอียดอ่อน (Sensitive) เยอะมาก ข้อมูลเสียงสะท้อนของผู้ปกครองคนหนึ่งที่ตีพิมพ์ทางสื่อมวลชนแล้วน่าสนใจมาก ผู้ปกครองคนนั้นให้ความเห็นว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมวันบัณฑิตน้อยของโรงเรียนที่ลูกจบอนุบาลอย่างมาก เนื่องจากปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและการไม่เห็นในความจำเป็น แต่หากไม่ให้ลูกเข้าร่วม ลูกของตนเองจะต้องเข้าเรียน ป.1 ที่โรงเรียนนี้อีก จึงเกรงว่าจะเป็นปัญหากระทบกับลูกที่จะต้องเรียนโรงเรียนนี้ต่อไป เข้าข่ายลักษณะพะอืดพะอมกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหมือนที่ผู้เขียนแสดงความรู้สึกก่อนหน้านี้
ส่วนของผู้เขียนนั้นลูกต้องไปเรียนต่อที่โรงเรียนอื่น แต่ไม่อยากให้ลูกเสียใจและเสียสังคมเพื่อน
เรื่องที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือเรื่อง"ครุย" ที่ผู้เขียนคิดว่า "เป็นของสูง" อย่าเอาครุยมาทำเล่น ครุยควรจะได้เป็นสัญลักษณ์ของสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญา อย่าเอามโนทัศน์เรื่องครุยมาเลียนแบบจนทำให้ครุยมีความหมายและคุณค่าด้อยลง
ครุยในความหมายโดยนัยทางจิตวิทยาคือสิ่งจูงใจ(Incentive)ที่จะผลักดัน (Drive) ให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจ (Motivation) เกิดมุนานะในการศึกษาเล่าเรียนเพื่อจะได้เป็นผู้เจริญงอกงามทางความรู้และวุฒิภาวะ (Maturation) ที่เราเรียกกันว่าบัณฑิต และได้สวมครุยในวันที่สำเร็จการศึกษา เป็นบัณฑิตของสังคม ประเทศทั่วโลกใช้ครุยเป็นสัญลักษณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย การเกิดขึ้นของครุยของมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเป็นบทบัญญัติ ผู้ใดจะดัดแปลงและสวมใส่ครุยของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยไม่มีสิทธิย่อมกระทำมิได้ ครุยจึงไม่ควรจะถูกนำมาตัดเลียนแบบและใช้กันจน "บ้าใบ" ถึงขนาดนี้
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของชุดครุยกระแสหนึ่งว่า ในครั้งที่มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดในราวปี ค.ศ.1621 ในดินแดนทวีปยุโรปปัจจุบัน และเมื่อถึงคราวที่มหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกจะจัดพิธีประสาทปริญญาให้แก่บัณฑิตรุ่นแรก บรรดาคณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาคิดกันว่าจะหาเสื้อผ้าที่แสดงวิทยฐานะให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาสวมใส่ในวันที่สำเร็จการศึกษาอย่างไรดีเพื่อให้เสื้อผ้านั้นสื่อความหมายถึงสาระสำคัญของชีวิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซึ่งสังคมยกย่องสรรเสริญว่าเป็นปัญญาชน เล่ากันว่าในขณะที่บรรดาคณาจารย์กำลังประชุมคิดเครื่องครุยวิทยฐานะกันอย่างคร่ำเครียดนั้น อาจารย์คนหนึ่งหันไปเห็นช่างทาสีที่กำลังทาสีฝาผนังตึกเรียนอยู่ข้างๆ นั้น เมื่อเห็นช่างทาสีสวมเสื้อคลุมคลุมตัวและคลุมศีรษะเพื่อปกป้องไม่ให้สีเปื้อนเนื้อตัวและเสื้อผ้าชั้นใน เสื้อคลุมของช่างทาสีที่มีลักษณะเป็นเสื้อคลุมเลยเข่าลงมาถึงน่อง และมีส่วนที่ใช้คลุมศีรษะเย็บติดไว้กับตัวเสื้อด้วย ทั้งหมดนั้นจึงเป็นที่มาของชุดครุยที่มีฮู้ดห้อยไว้ด้านหลังเหมือนดั่งหมวกคลุมศีรษะของช่างทาสี เล่ากันว่าในครั้งเมื่อมีผู้พบเห็นชุดครุยชุดแรกนี้ และถามเหตุผลหรือแนวคิดหลักที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้ชุดครุยของบัณฑิตเลียนแบบชุดช่างทาสี กลุ่มคณาจารย์ผู้ออกแบบได้ตอบว่า เพื่อไม่ให้ผู้สำเร็จการศึกษาเหิมเกริม ทระนงตัวจนเกินเลยไปว่ามีการศึกษาสูงกว่าคนอื่น จนถึงขั้นดูถูกดูแคลนคนอื่น โดยเฉพาะบุคคลที่ได้รับการศึกษาน้อยกว่า อย่างน้อยก็เช่น ช่างทาสี เป็นต้น
ครุยจึงไม่ควรนำมาตัดเลียนแบบให้เด็กๆ สวมใส่อย่างเป็นจริงเป็นจัง เอางานเอาการกันถึงเพียงนี้ เนื่องจากไม่เหมาะไม่ควร และยังผิดฝาผิดตัวจนดูมั่วไปหมด เป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดเพี้ยนให้เกิดขึ้นในสังคม
การจัดกิจกรรมมอบวุฒิบัตรแบบบัณฑิตน้อยนับวันจะทำมากขึ้นในกลุ่มของโรงเรียนเอกชนและสถานศึกษาที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) คสช. หรือซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา อย่ามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กนะครับ มันเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากมันเป็นเรื่องการสร้างค่านิยมที่ผิด เป็นเรื่องการจัดการศึกษาที่ไม่ได้มุ่งเน้นสาระ เน้นแต่พิธีการและส่งเสริมความสิ้นเปลือง ผู้เขียนเขียนและพูดกับลูกศิษย์ที่เป็นครูมาตลอดว่า การสร้างค่านิยมที่ผิดเพี้ยน ฟุ่มเฟือย และไม่ได้ประโยชน์ในสถานการณ์ทางการศึกษานั้น เป็นปัญหาใหญ่ของชาติ เนื่องจากเด็กของเราจะเกิดค่านิยมที่ไร้สาระ เน้นพิธีการและวัตถุ และไม่รู้สึกรู้สากับความสิ้นเปลืองตั้งแต่เล็กตั้งแต่น้อย มันจะเป็นนิสัยที่แก้ยากเมื่อเด็กของเราโตขึ้น และบุคลิกภาพแบบนี้จะติดตัวจนเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะกลายเป็นพลเมืองที่เป็นแรงเสียดทานในการพัฒนาประเทศมากกว่าที่จะเป็นแรงผลักดัน
ไหนๆ เราก็เข้าโหมดปฏิรูปการศึกษากันอย่างยกใหญ่แล้ว ผู้เขียนมีความหวังนะครับว่าการปฏิรูปคราวนี้เราจะทำสำเร็จ มนุษย์เราต้องอยู่ด้วยความหวังมิใช่หรือ เราจะต้องช่วยกันยกคุณภาพการศึกษาของประเทศชาติของเราให้อยู่ในระดับที่ประชาคมโลกไม่อาจดูถูกดูแคลนเอาได้เราจะไม่ปฏิรูปแบบมโนไปเองหรือไม่ปฏิรูปแบบให้คนบางกลุ่มบางพวก "รับจ้างทำเอง" ซึ่งไม่ได้ฟังเสียงจากพื้นที่หรือฟังอย่างตาบอดคลำช้าง
เมื่อเราต้องเร่งเครื่องเดินหน้าการปฏิรูปการศึกษา รัฐบาลอย่าปล่อยปละละเลยปัญหาที่มันพันธนาการอนาคตของเด็กเรานะครับ อย่าเดินหน้าแบบม้าลำปาง มองข้างทางบ้าง ควบคุมและจัดการเสีย นอกจากเรื่องบัณฑิตน้อยนี้แล้ว มันยังมีอีกเยอะมากนะครับที่ล้วนแต่สร้างภาพลักษณ์ความ "บ้าใบ" ให้แก่สังคมไทย
ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณบดีคณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ม.หาดใหญ่
(มติชนรายวัน 23 เมษายน 2558)
https://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1429777226

ที่มา: รักลูก

อัพเดทล่าสุด