มารู้จัก 5 อาการทางจิต จากละครฮิตวัยแสบสาแหรกขาด


2,177 ผู้ชม


มารู้จัก 5 อาการทางจิต จากละครฮิตวัยแสบสาแหรกขาด

5 อาการทางจิตจากละครวัยแสบสาแหรกขาด มารู้จักว่าเด็กแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพจิตในด้านใดบ้าง แล้วมีหนทางรักษาให้หายขาดไหม
 
          ละครช่วยสะท้อนสังคมได้ไม่น้อย ดูอย่างละครเรื่องวัยแสบสาแหรกขาด ที่ทำให้เราตระหนักถึงปัญหาครอบครัว ปัญหาในเด็กและวัยรุ่น รวมไปถึงปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ ซึ่งหากเคยได้ดูละครกันมาบ้าง ก็คงเห็นว่าตัวละครหลักซึ่งเป็นเด็ก 5 คน ต่างก็มีอาการทางจิตติดตัวกันคนละอาการ และวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จัก 5 อาการทางจิตจากละครฮิต วัยแสบสาแหรกขาดค่ะ


1. โรคชอบขโมยของ (Kleptomania)

          ปิ๊กปิ๊ก เด็กหญิงชั้น ป.4 หน้าตาจิ้มลิ้ม แววตาใสซื่อ เป็นเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย แต่ปิ๊กปิ๊กกลับมีพฤติกรรมชอบขโมย จนเพื่อนไม่อยากคบ ซึ่งอาการที่เด็กหญิงเป็น เรียกว่าโรคชอบหยิบฉวย (Pathological stealing) หรือ Kleptomania เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถยับยั้งใจต่อแรงกระตุ้นที่จะลักเล็กขโมยน้อยได้ แม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่ใช่ของมีราคา เช่น ปากกา คลิปหนีบกระดาษ กิ๊บติดผม ผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ ผู้ป่วยก็สามารถหยิบฉวยติดมือได้โดยไม่ได้วางแผนมาก่อน หรือไม่ได้ขโมยของเพราะต้องการทรัพย์สินเงินทอง แต่เพราะควบคุมอารมณ์ไม่ได้เท่านั้นเอง
สาเหตุ 
          ทางจิตวิทยาเชื่อว่าโรคชอบขโมยของอาจเกิดจากความผิดปกติทางชีวภาพ ทำให้สมองหลั่งสารบางอย่างออกมา คล้าย ๆ กับอาการโรคซึมเศร้า โรคแพนิค เป็นต้น ทว่าก็อาจมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจพ่อแม่ หรือบุคคลที่มีอำนาจในชีวิตของเด็ก ผลักดันให้เด็กมีนิสัยชอบขโมยของเพื่อสร้างความอับอายให้กับผู้ปกครองด้วยนะคะ
อาการ
          - มักจะขโมยสิ่งของที่ตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือสิ่งของที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร
          - ก่อนลงมือ ผู้ป่วยจะมีความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างมาก
          - หลังจากลงมือขโมยของแล้ว จะรู้สึกสบายใจ และผ่อนคลายลง
          - เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ผู้ป่วยบางรายอาจจะกลับมารู้สึกผิด เสียใจ เพราะลึก ๆ แล้วผู้ป่วยรู้ว่าการขโมยของเป็นเรื่องผิดต่อศีลธรรมและกฎหมาย แต่ก็มีบางรายที่อาจไม่รู้สึกอะไรเลยจากพฤติกรรมนั้นก็เป็นได้
          - ผู้ป่วยที่ขโมยของมาแล้วอาจนำของไปเก็บไว้ หรือทิ้งไป หรือเอาไปคืนที่เดิม
การรักษา
          เราสามารถบำบัดอาการของผู้ป่วยด้วยการใช้ยา ร่วมกับวิธีจิตบำบัด โดยแพทย์ นักจิตวิทยา จะรับฟังอาการของผู้ป่วย ด้วยการแสดงความเห็นอกเห็นใจ และให้กำลังใจผู้ป่วยว่า อาการนี้สามารถรักษาให้หายได้หากตั้งใจจะรักษา 
          นอกจากนี้ยังต้องใช้วิธีพฤติกรรมบำบัดด้วยการโน้มน้าวให้ผู้ป่วยกลับมาสู่ความเป็นจริง ให้รู้จักเหตุผล รู้จักกฎ กติกา ศีลธรรมอันดี โดยครอบครัวและญาติของผู้ป่วยควรจะเข้าใจ และให้ความร่วมมือในการให้กำลังใจผู้ป่วยที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย


2. โรคชอบพูดโกหก (Liar)    
          เด็กชายดังใจ นักเรียนชั้น ป.6 เป็นเด็กที่มีปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน และคุณแม่ยังค่อนข้างเนี้ยบสุด ๆ ทำให้ดังใจไม่ค่อยกล้าพูดความจริงเท่าไร จนกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะประจำโรงเรียน 
          จากพฤติกรรมลักษณะดังกล่าว นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ทั่วไปโรงพยาบาลมนารมย์ ก็เคยให้ข้อมูลว่า เด็กอาจพูดโกหกเพราะกลัวถูกทำโทษ กลัวโดนจับได้เลยต้องโกหก หรือหากเป็นเด็กที่มีความเจ็บป่วยด้านจิตเวช เช่น มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีปัญหาด้านภาษา ป่วยเป็นโรคจิต หรือมีอาการของโรคซึมเศร้า เด็กก็อาจมีพฤติกรรมชอบพูดโกหกหรือทำตัวเกเรได้เช่นกัน

อาการ
          เด็กมักจะชอบพูดโกหกหรือบิดเบือนความจริงอยู่บ่อย ๆ โดยพ่อแม่อาจจับสังเกตได้จากท่าทางมีพิรุธของเขา เช่น พูดไปยิ้มไป ยุกยิกขณะพูด ไม่สบตาเวลาพูด เม้มปาก ย่ำเท้าซ้ำ ๆ หรือกะพริบตาถี่ผิดปกติ เป็นต้น
การรักษา
          วิธีรักษาโรคชอบโกหกจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วย เช่น ให้ความไว้วางใจกับลูก ไม่ตำหนิหรือดุด่าเมื่อเขาทำผิด แต่ควรอธิบายด้วยเหตุและผล รวมทั้งใช้วิธีปรับความคิดและพฤติกรรมบำบัด หรือในรายที่มีอาการทางจิตอื่น ๆ ร่วมด้วยอาจจำเป็นต้องใช้ยารักษาช่วยอีกทาง

3. โรคชอบทำร้ายตัวเอง (Deliberate Self-Harm)
          ตังเม เด็กหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หมกมุ่นอยู่กับการพยายามฆ่าตัวตาย และชอบทำร้ายตัวเองเพื่อระบายความเจ็บปวดจากสิ่งเร้าภายนอก โดยกรมสุขภาพจิตให้ข้อมูลไว้ว่า คนที่ทำร้ายตัวเองมักจะแก้ปัญหาด้วยการเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง จนมันล้นทะลักและพยายามหาทางออก ซึ่งคนที่มีอาการชอบทำร้ายตัวเอง ก็มักจะไม่ค่อยไว้ใจที่จะปรึกษาใคร จึงนิยมใช้ร่างกายของตัวเองระบายอารมณ์ เช่น กรีดแขน-ข้อมือ ชกกำแพงจนเลือดออก เมื่อมีความรู้สึกเครียด โมโห หรือรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า ทว่าในบางรายอาจมีอาการชอบทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจด้วย โดยมักจะกรีดข้อมือ หรือทำร้ายร่างกายในส่วนที่คนอื่นจะสามารถมองเห็นได้ชัด 
อาการ  
          เมื่อมีความเครียด ความกดดัน หรือรู้สึกโกรธ โมโห รู้สึกว่าตัวเองไม่มีใครสนใจ ไร้ค่า อาจมีพฤติกรรมจงใจทำร้ายตัวเองให้เกิดความเจ็บปวด แต่อาจไม่ถึงขั้นจะทำร้ายตัวเองให้ถึงแก่ชีวิต เพราะคิดว่านี่คือทางออก หรืออย่างน้อยก็ทำให้คนรอบข้างหันมาสนใจตนเองได้บ้าง
การรักษา
          ควรเริ่มจากปรับทัศนคติของผู้ป่วยก่อน พยายามไว้ใจคนรอบข้าง เปิดใจให้กว้าง เมื่อมีปัญหาก็ปรึกษากับคนที่เราไว้ใจ หรือพยายามระบายอารมณ์ความรู้สึกด้วยการเล่นกีฬา การออกแรงทำประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น หรือหากอาการหนักมาก ควรเข้ารับการบำบัดโดยจิตแพทย์

4. Cyberbullying
          มินนี่ เป็นดาวโรงเรียน เป็นเน็ตไอดอล มีชื่อเสียง มีพฤติกรรมติดโซเชียลมีเดีย ดึงความสนใจจากคนอื่น ๆ ผ่านโลกออนไลน์เหล่านี้ และเมื่อโดนคุกคามทางโลกไซเบอร์จากพวกนักเลงคีย์บอร์ดก็รับกระแสเหล่านั้นไม่ไหว จนเป็นเหตุให้เกิดอาการวีนแตกอยู่บ่อย ๆ เมื่อมีใครพูดถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียล 
          โดยในทางจิตวิทยาให้ข้อมูลว่า เด็กที่ถูกคุกคามทางอินเทอร์เน็ต อาจมีความเครียดและแสดงออกได้หลากหลายพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นอาการกรี๊ด วีนแตก ร้องไห้ พูดจาไม่รู้เรื่อง และควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งต้นเหตุก็เกิดจากเด็กผูกชีวิตตัวเองไว้กับโลกโซเชียล หมกมุ่น และหวั่นไหวกับมันมากจนเกินไปนั่นเอง

อาการ
          มีอาการซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล เริ่มเก็บตัวอยู่คนเดียว ห่างจากครอบครัว ห่างจากเพื่อนฝูง ไม่อยากไปโรงเรียน หรือโดดเรียนเพราะรู้สึกอับอาย และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งเร้า เช่น สังคมภายนอก อาจควบคุมตัวเองไม่ได้ มีอาการกรี๊ด ร้องไห้ หรือสติหลุด
การรักษา
          ผู้ปกครองควรสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หากเขามีอาการหงุดหงิดหรือพฤติกรรมแปลกไปหลังเล่นโซเชียลมีเดีย อาจต้องเข้าไปพูดคุยและถามไถ่ถึงสาเหตุเหล่านั้น เป็นการช่วยแชร์ความรู้สึกแย่ ๆ จากสิ่งที่เขาเผชิญอีกทาง รวมทั้งพยายามพาเขาออกห่างจากโลกออนไลน์บ้าง เพื่อลดความเครียด


5. โรคชอบใช้ความรุนแรง (Rage)
          ลูกหวาย เด็กชายหน้าตาดีเรียนอยู่ชั้น ม.6 ดูจากภายนอกแล้วหวายเป็นเด็กสุภาพ เรียบร้อย ทว่าลึก ๆ แล้วเขามีนิสัยชอบใช้ความรุนแรง 
          โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริไชย หงษ์สงวนศรี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ปัญหาความรุนแรงเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ พฤติกรรมการเลียนแบบของตัวเด็กเอง พัฒนาการทางสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พื้นฐานนิสัยเดิม หรือความผิดปกติด้านจิตใจ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ทำให้การควบคุมอารมณ์บกพร่อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคชอบใช้ความรุนแรงได้

อาการ
        มักจะเป็นคนขี้หงุดหงิด ขี้รำคาญ อารมณ์เสียได้ง่าย เหวี่ยงได้กับทุกอย่าง หรือหากโดนขัดใจ ถูกใครทำให้ไม่พอใจ ถูกกระทำ อาจระเบิดอารมณ์อย่างรุนแรง เหมือนไม่สามารถควบคุมตนเองได้
การรักษา
          รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริไชย แนะนำว่า การเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดสำคัญมาก ความผูกพัน การเอาใจใส่ และสายใยแห่งรักจากพ่อและแม่จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี และมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ที่สำคัญยังช่วยให้ลูกมีความสามารถในการควบคุมตนเองได้ดีอีกด้วย
          ส่วนในการรักษาวัยรุ่นที่ชอบใช้ความรุนแรง ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจให้มาก พร้อมกันนั้นก็ควรดูแลเอาใจใส่อย่างพอเหมาะพอควร หรือในเคสที่อาการหนัก คนที่บ้านเอาไม่อยู่ ลองปรึกษากับจิตแพทย์อีกทีก็ดีค่ะ

          อย่างไรก็ตาม เด็กที่มีปัญหาหรือมีอาการทางจิตไม่ใช่คนไม่ดี หรืออาจโตมาเป็นคนที่สร้างปัญหาให้สังคมแต่อย่างใด ทว่าเขาก็เป็นเพียงเด็กที่กำลังมีความบอบช้ำในบางสิ่งบางอย่าง และควรได้รับการเยียวยารักษาด้วยความรัก ความเข้าใจนะคะ

ที่มา: กระปุกออนไลน์

อัพเดทล่าสุด