ระวัง! ยาลดความอ้วน ต้องให้หมอดูแล ซื้อกินเองไม่ได้


1,658 ผู้ชม

ยาลดความอ้วนนั้นไม่ปลอดภัย เพราะไม่มีสูตรยาตัวใดเลยที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ โดยทาง อย.ไม่ให้ซื้อมารับประทานเองโดยเด็ดขาด เพราะยาลดความอ้วนต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ และไม่สามารถหาซื้อนอกร้านขายยาได้...


จากกรณีที่นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ทานยาลดความอ้วน ที่สั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต แล้วเสียชีวิตนั้น นายพชร แกล้วกล้า ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ว่า ยาลดความอ้วนนั้นไม่ปลอดภัย เพราะไม่มีสูตรยาตัวใดเลยที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ โดยทาง อย.ไม่ให้ซื้อมารับประทานเองโดยเด็ดขาด เพราะยาลดความอ้วนต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ และไม่สามารถหาซื้อนอกร้านขายยาได้ 
นายพชร กล่าวว่า ยาตัวที่เป็นข่าวถือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “Beauty Chic” (บิวตี้ชิคค์) ซึ่งลักลอบใส่ยาถ่าย และทาง อย.ก็ให้ข้อมูลว่ามีเลขทะเบียนปลอม ซึ่งแปลว่าเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ต้องแจ้งเตือน โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น หากบอกว่าช่วยลดน้ำหนัก หรือลดความอ้วนจะทำไม่ได้เลย เพราะเป็นอาหารไม่ใช่ยา จะมีสรรพคุณเหมือนยา เช่น บำบัด บำรุง หรือรักษาโรคไม่ได้
“เราไม่แนะนำให้ผู้บริโภคลดความอ้วนโดยทางลัด แต่แนะนำให้ระวังการใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หากต้องการใช้ ให้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่าคลินิก และแนะนำให้ใช้การควบคุมน้ำหนักแบบธรรมชาติ อย่างการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เนื่องจากการใช้ยาลดความอ้วน ก็เหมือนการใช้ยาสเตียรอยด์ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้” ผู้ช่วยเลขาฯ กล่าว
นายพชร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยาในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ ยาสามัญ กับยาควบคุมเฉพาะ ซึ่งยาลดความอ้วนก็อยู่ในยาควบคุมเฉพาะ ที่จะขายในร้านขายยา และต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น พร้อมกันนี้ ยาลดความอ้วนที่ใช้กันบางตัวยังมีส่วนผสมของยาไซบูทรามีน โดยลักลอบใช้ผสมให้สัตว์กิน เช่น หมู เพื่อให้เนื้อสัตว์มีสีแดงมากขึ้น ซึ่งยาตัวนี้มีอันตรายต่อหัวใจ อย.เลยห้ามใช้ยาตัวนี้ใส่ในอาหาร
นอกจากนี้ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยสำรวจ “รูปแบบการจ่ายยาลดน้ำหนัก” ของคลินิกต่างๆ ทั่วประเทศ และเมื่อนำยาไปตรวจวิเคราะห์แล้วพบว่า มีรูปแบบการจ่ายยาดังนี้ 
1. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว ชนิดเดียว

2. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว สองชนิด


3. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยาระบาย


4. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยาระบาย+ยานอนหลับ


5. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว สองชนิด+ยาระบาย+ยานอนหลับ


6. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยาระบาย+ยาลดอาการใจสั่น


7. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยานอนหลับ


8. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+วิตามินบี ๑ และ


9. ไม่ทราบว่าเป็นยากลุ่มใด โดยผู้ที่สนใจสามารถอ่านผลการสำรวจเพิ่มเติมได้จากลิ้งนี้ https://tinyurl.com/zgqyo4a


ทั้งนี้ ตามความหมายของ “อาหาร” หมายถึง วัตถุทุกชนิดที่นำมากิน ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ เพื่อเสริมโภชนาการให้แก่ร่างกาย ขณะที่ “ยา” หมายถึง วัตถุที่มีการรับรองไว้ในตำรายาที่รัฐมนตรีประกาศ ใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ โดยที่ “ยาไซบูทรามีน” นั้นได้ถูก อย.ถอนออกจากทะเบียนยาแล้ว เนื่องจากมีผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจ 


ขอบคุณเนื้อหาจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

ภาพประกอบจาก istockphoto (ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา)

ที่มา  สนุกออนไลน์

อัพเดทล่าสุด