วันนี้มีข้อแนะนำในการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในช่วงฤดูหนาว และมีวิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่าบนถนน
การท่องเที่ยวอุทยานที่ถูกต้อง ถือว่าเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง วันนี้มีข้อแนะนำในการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในช่วงฤดูหนาว และมีวิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่าบนถนน ในพื้นที่ อช.เขาใหญ่
1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนี รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป
2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้
3. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจและตรงเข้ามาทำร้ายได้
4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที
5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก
6. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟสูง แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆเคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
7. ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถของคุณได้
8. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือโขลง ขณะที่คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น โขลงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆทางนั้นก็เป็นได้
วิธีสังเกตุอารมณ์ของช้างอย่างง่าย ๆ
- เมื่ออารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา
- เมื่ออารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง งวงจะนิ่งแข็ง และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา
- ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้น ๆ เพียง 2 3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง ช้างเมื่ออารมณ์ดี จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม
- แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงพึงสังเกตอารมณ์ และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วยครับ
บทความแนะนำ: