สรุปบทนิราศภูเขาทอง ถอดแผนที่เดินเรือ และข้อคิดจากบทประพันธ์


1,240 ผู้ชม

นิราศภูเขาทอง ม.1 บทเรียนพื้นฐานวิชาภาษาไทยของเด็กไทย โดยกลอนนิราศภูเขาทองทั้งหมด 88 บท


นิราศภูเขาทอง ม.1 บทเรียนพื้นฐานวิชาภาษาไทยของเด็กไทย โดยกลอนนิราศภูเขาทองทั้งหมด 88 บท เล่าเรื่องการเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาผ่านสถานที่สำคัญริมน้ำ โดยใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่คงความไพเราะ บทนิราศภูเขาทองจึงนับเป็นบทประพันธ์ที่ดีที่สุดของสุนทรภู่

นิราศ คืออะไร

นิราศ คือ บทประพันธ์ชนิดหนึ่งที่ถ่ายทอดเรื่องราว บรรยายถึงสภาพการเดินทาง ภูมิประเทศ รวมถึงการพรรณนาเมื่อต้องจากลาคนรัก หรือลาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่นเดียวกับนิราศเมืองแกลง นิราศนรินทร์ หรือนิราศภูเขาทอง

นิราศภูเขาทองแต่งขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้แต่ง

นิราศภูเขาทองแต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสุนทรภู่ กวีเอกชื่อดังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งปัจจุบันยังคงได้รับการยกย่องในด้านวรรณกรรมและการประพันธ์ของคนไทย

ลักษณะบทอาขยานนิราศภูเขาทองเป็นแบบใด

ลักษณะบทกลอนนิราศภูเขาทองแต่งด้วยกลอนนิราศ เริ่มต้นที่วรรครับ รอง ส่ง โดยวรรคส่งจะจบคำท้ายด้วยคำว่า “เอย” เน้นใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย แต่คงความไพเราะ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย

แผนที่นิราศภูเขาทอง เดินทางผ่านจุดใดบ้าง

เส้นทางนิราศภูเขาทองเดินทางผ่านทางเรือ ตามลำน้ำเจ้าพระยา ยึดตามพื้นที่เดิมในยุคสมัยนั้น โดยเริ่มต้นจากวัดเลียบหรือวัดราชบุรณราชวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ผ่านพระบรมมหาราชวัง วัดประโคนปัก โรงเหล้า บางจาก บางพลู บางพลัด บางโพ บ้านญวน วัดเขมาภิรตาราม ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ บางธรณี เกาะเกร็ด บางพูด บ้านใหม่ บางเดื่อ บางหลวง สามโคก บ้านงิ้ว ผ่านหน้าจวนเจ้าเมืองพระนครศรีอยุธยา วัดหน้าพระเมรุ ถึงเจดีย์ภูเขาทอง

เส้นทางนิราศภูเขาทองขากลับ จะเดินทางตามเส้นทางเดิม เพียงแต่จะกล่าวถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารเพียงสถานที่เดียว

สรุปนิราศภูเขาทอง กลอนชิ้นเอกของสุนทรภู่

กลอนนิราศภูเขาทองเล่าเรื่องการเดินทางของสุนทรภู่ ขณะนั้นได้บวชเป็นภิกษุ เดินทางจากเมืองกรุงไปยังพระนครศรีอยุธยา เพื่อนมัสการพระบรมธาตุที่บรรจุในพระเจดีย์ภูเขาทอง ในช่วงเดือน 11 หลังจากออกพรรษาและรับกฐิน

สุนทรภู่เดินทางผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่ง จึงได้แต่งนิราศ บรรยายเปรียบเทียบสิ่งที่พบเจอกับชีวิตและโชคชะตาของตนเอง หลังจากเคยใช้ชีวิตสุขสบายในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 รวมถึงพรรณนาถึงนางอันเป็นที่รักสอดแทรกเข้ามาด้วย

นิราศภูเขาทอง ข้อคิดสอนใจจากบทประพันธ์

นิราศภูเขาทองสรุปข้อคิดและประเด็นสำคัญได้หลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น

1. ข้อคิดเรื่องกฎแห่งไตรลักษณ์

หนึ่งในบทประพันธ์นิราศภูเขาทอง สุนทรภู่ได้กล่าวถึงกฎแห่งไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ ไว้ว่า

“ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงก้าวแฉก เผยอแยกยอดสุดก็หลุดหัก
โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น”

2. ข้อคิดเรื่องการใช้คำพูด

คำพูดบางครั้งนอกจากจะสร้างมิตร ยังเป็นการสร้างศัตรูได้ ดังนั้น จึงควรเลือกใช้คำพูดและถ้อยคำให้เหมาะสม ดังบทหนึ่งในกลอนนิราศภูเขาทองที่ว่า

“ถึงบางพูด พูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”

3. ข้อคิดเรื่องการเลือกคบคน

สุนทรภู่ได้เปรียบเทียบการเลือกคบคนกับผลมะเดื่อ เพราะแม้ภายนอกจากจะดูดี สวยงาม แต่เมื่อรู้จักกันหรือเห็นไส้ในขึ้น อาจจะเป็นเน่าเละหรือเป็นอีกแบบก็เป็นได้ ดังตอนหนึ่งที่ว่า

“ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา”

นอกจากข้อคิดกลอนนิราศภูเขาทองในข้างต้น ยังมีข้อคิดและคติสอนใจสอดแทรกอยู่อีกหลายบท สามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในชีวิตประจำวันได้จนถึงปัจจุบัน

บทความที่น่าสนใจ

อัพเดทล่าสุด