แรงงานสัมพันธ์ คืออะไร ผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง และแรงงานควรรู้
แรงงานสัมพันธ์
แรงงานสัมพันธ์ คืออะไร ผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง และแรงงานควรรู้
แรงงานสัมพันธ์ หมายถึงอะไร
แรงงานสัมพันธ์ หมายถึง ความเกี่ยวข้อง หรือการปฏิบัติต่อกันระหว่างนายจ้าง องค์กรนายจ้าง กับลูกจ้าง องค์กรลูกจ้าง ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน จนออกจากงาน เช่น การทำสัญญาจ้างแรงงาน การมอบหมายงาน การควบคุมการทำงาน การทดลองงาน การปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานการจ่ายค่าจ้างการอบรมพัฒนา การจัดสวัสดิการแรงงาน ความปลอดภัยในการทำงาน การเลื่อนขั้นเงินเดือน การลงโทษการพิจารณาความดีความชอบ การโยกย้าย การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาข้อเรียกร้อง การนัดหยุดงาน การปิดงาน การทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การเลิกจ้าง เป็นต้น
ที่กล่าวข้างต้น เป็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเพียง 2 ฝ่าย คือนายจ้าง กับลูกจ้าง เรียกว่า แรงงานสัมพันธ์ระบบทวิภาคี อย่างไรก็ตามหากนายจ้างและลูกจ้างมีความขัดแย้งกัน มีข้อพิพาทแรงงาน หรือต้องการให้ภาครัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบแรงงานสัมพันธ์ด้วย จะมีฝ่ายที่ 3 คือภาครัฐเข้าไปในระบบแรงงานสัมพันธ์ เรียกว่า แรงงานสัมพันธ์ระบบทวิภาคี ลักษณะกิจกรรมที่ภาครัฐจะเข้าไปร่วมด้วย เช่น การเจรจาแก้ไขข้อขัดแย้ง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน การเข้าไปส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ การร่วมเป็นคณะกรรมการไตรภาคีต่าง ๆ เป็นต้น
กระบวนการแรงงานสัมพันธ์
ความจริง นายจ้างและลูกจ้างถูกกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้แล้วตามกฎหมายคุ้มครอง แรงงาน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นการกำหนดความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเกี่ยวข้องและปฏิบัติต่อกัน เรียกว่าเป็นการแรงงานสัมพันธ์ขั้นพื้นฐาน เช่น กฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องกำหนดเวลาทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ต้องจัดให้มีวันหยุด ต้องจ่ายค่าจ้าง ต้องจัดสภาพการทำงานให้ปลอดภัยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อเลิกจ้าง เป็นต้น
แต่ในความเป็นจริง นายจ้างและลูกจ้างยังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากกว่าที่กฎหมายกำหนดอีก มากมาย เช่น นายจ้างจัดสวัสดิการแรงงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ลูกจ้างขอมีส่วนถือหุ้นของบริษัท ลูกจ้างขอมีส่วนแสดงความคิดเห็นในการบริหารร่วมกับนายจ้าง เป็นต้น เหล่านี้เกิดจากเจรจาต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เรียกว่าการแรงงานสัมพันธ์ขั้นสูง หรือการแรงงานสัมพันธ์ระดับเจรจาต่อรอง
ขั้นตอนกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ขั้นสูง มีดังนี้
1. นายจ้าง หรือลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องต่อกันเป็นหนังสือ
2. ตั้งตัวแทนฝ่ายละไม่เกิน 7 คน เข้าเจรจาต่อรองกัน
3. ถ้าตกลงกันได้ จัดทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและจดทะเบียนข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่
4. แต่ละฝ่ายปฎิบัติตามข้อตกลง มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
5. ถ้าเจรจาตกลงกันเองไม่ได้ถือว่าเกิดข้อพิพาทแรงงาน ต้องแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไปร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แรงงาน
6. ถ้าไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ก็จัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและจดทะเบียนข้อตกลง
7. ถ้าเจรจาไกล่เกลี่ยตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจกดดันอีกฝ่ายโดย ฝ่ายลูกจ้างนัดหยุดงาน หรือฝ่ายนายจ้างปิดงาน จนกว่าอีกฝ่ายจะยินยอมตกลงด้วย
ตามที่กล่าวข้างต้น เป็นขั้นตอนคร่าว ๆ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก เช่น การนับระยะเวลา วิธีการต่าง ๆ ต้องดูจาก พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
นี่คือกระบวนการขั้นตอนแรงงานสัมพันธ์ที่ถูกต้อง แต่ที่เห็นพากันเดินขบวนไปทำเนียบ ไปกระทรวงแรงงาน ไปสนามหลวงนั้น เป็นเรื่องนอกเหนือกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ แต่พวกเขาอาจทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็คงไม่เป็นไร
การเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการ
แนวทางเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี
1. นายจ้าง ลูกจ้าง คำนึงถึงประโยชน์ร่วมกัน
2. ทั้งสองฝ่ายรู้หลักการให้ และการรับ
3. มีระบบการสื่อข้อความที่มีประสิทธิภาพ
4. มีระบบการบริหารและการยุติข้อร้องทุกข์ที่เป็นธรรม
5. มีการร่วมปรึกษาหารืออย่างสม่ำเสมอ
6. สร้างความคุ้นเคย ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
7. ยอมรับเหตุผลซึ่งกันและกัน
8. เปิดโอกาสให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการบริหารงานมากขึ้น
9. เคารพในสิทธิและบทบาทหน้าที่ของอีกฝ่ายหนึ่ง
บทบาทในการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ยั่งยืน
บทบาทของนายจ้างและฝ่ายจัดการ
1. มีนโยบายด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ชัดเจน และเปิดเผย โดยการใช้ระบบการปรึกษาหารือ และการสร้างความร่วมมือระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง
2. ฝ่ายจัดการควรริเริ่มกำหนดทิศทางที่จะร่วมมือกับลูกจ้าง
3. ฝ่ายจัดการควรจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อใช้ลงทุนในด้านการพัฒนาแรงงานสัมพันธ์
4. ฝ่ายจัดการและหัวหน้างานทุกระดับ จะต้องได้รับการถ่ายทอดนโยบาย กรอบและทิศทางการทำงานทางด้านแรงงานสัมพันธ์ของบริษัท
5. ฝึกอบรมทักษะการเป็นฝ่ายจัดการ และหัวหน้าที่ดี ให้แก่หัวหน้างานทุกระดับชั้น
6. ฝึกอบรมฝ่ายจัดการและหัวหน้างานทุกระดับชั้นในเรื่องแรงงานสัมพันธ์การปรึกษาหารือ และความร่วมมือในการทำงาน
7. ยอมรับและให้เกียรติพนักงานทุกระดับ
8. ให้โอกาสพนักงานมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพนักงานโดยตรง
9. สร้างเงื่อนไขที่จะให้พนักงานมีโอกาสใช้ทักษะและศักยภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่ในการพัฒนาสถานประกอบการ
10. สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน โดยการแสดงความจริงใจของฝ่ายจัดการที่มีต่อลูกจ้าง
11. ฝ่ายจัดการ ควรจะแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพนักงาน
12. ฝ่ายจัดการควรให้ข่าวสารข้อมูลที่สำคัญของบริษัทที่ถูกต้อง และทันการแก่สหภาพแรงงานหรือผู้แทนของพนักงาน
บทบาทในการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ยั่งยืน
บทบาทสหภาพแรงงานและลูกจ้าง
1. สหภาพแรงงานและลูกจ้างต้องตระหนักว่าลูกจ้างกับนายจ้างมีผลประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น จะต้องไม่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของลูกจ้างเพียงด้านเดียว แต่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ขององค์กรธุรกิจด้วย การเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ควรมีเหตุมีผลและมีความเป็นไปได้
2. กรรมการสหภาพแรงงานควรส่งเสริมระเบียบวินัยในการทำงาน และจริยธรรมในการทำงานของบรรดาพนักงานอย่างเอาจริงเอาจัง
3. สมาชิกสหภาพแรงงานและพนักงานควรส่งเสริมและให้โอกาสแก่ผู้ที่มีเหตุมีผล มีความรู้และมีความเสียสละเข้ามาเป็นกรรมการสหภาพแรงาน หรือผู้แทนลูกจ้าง สมาชิก สหภาพแรงงาน ควรยอมรับระบบการปรึกษาหารือและการร่วมมือเพื่อช่วยผลักดันให้องค์กรธุรกิจ เจริญก้าวหน้า
4. ผู้นำสหภาพแรงงาน ควรมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ในภาพรวม และสถานการณ์ด้านธุรกิจ ของสถานประกอบการ
5. ผู้นำสหภาพแรงงานต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบและสามารถชี้แจงสถานการณ์ ต่างๆ อย่างเป็นจริง ให้แก่มวลชน สมาชิก โดยไม่ปล่อยให้สมาชิกมีความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ของสถานประกอบการ
ข้อควรปฏิบัติ/ละเว้นเพื่อการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี
ข้อควรปฏิบัติเพื่อการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี
1. มีความจริงใจต่อกัน
2. เชื่อใจซึ่งกันและกัน
3. ให้การยอมรับ
4. รับผิดชอบต่อหน้าที่
5. ปรึกษาหารือร่วมกัน
6. แก้ปัญหาโดยเร็ว
7. ใช้หลักยืดหยุ่น
8. แลกเปลี่ยนข้อมูล
9. ผลตอบแทนที่เหมาะสม
10. ปฏิบัติด้วยความเสมอภาค
11. รักษาระเบียบวินัย
12. ยุติธรรมต่อกัน
13. ให้มีส่วนร่วม
14. ให้ความสำคัญระบบร้องทุกข์
15. ให้โอกาส
16. ยึดหลักครอบครัวเดียวกัน
17.สร้างขวัญและกำลังใจ
18. สื่อข้อความให้ชัดเจน
19. ให้ความรู้ฝึกอบรมสม่ำเสมอ
20. มีมนุษย์สัมพันธ์
ข้อควรละเว้นเพื่อการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี
1. มีอคติต่อกัน
2. ไม่ไว้ใจ
3. แบ่งพรรคแบ่งพวก
4. ละเลยต่อหน้าที่
5. ใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว
6. มองข้ามปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ
7. แข็งกร้าว
8. ครอบงำความคิด
9. เอากำไรแต่อย่างเดียว
10. เลือกปฏิบัติ
11. ละเลยข้อร้องทุกข์
12. ละเลยข้อคิดเห็น
13. ให้บุคคลภายนอกมาเกี่ยวข้อง
14. สั่งงานอย่างเดียว
15. พูดคลุมเครือ
16. ขาดการพัฒนา
17. สร้างความกดดันให้อีกฝ่าย
ประโยชน์ของแรงงานสัมพันธ์ที่ดี
นายจ้าง
- ดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ มีผลกำไร กิจการเจริญก้าวหน้า
- ไม่เสียเวลา ไม่เสียเงิน ไม่เสียความรู้สึก และไม่เสียหน้า
- สามารถรักษาระเบียบวินัย ความสงบเรียบร้อยในสถานประกอบการ
ลูกจ้าง
- มีขวัญกำลังใจในการทำงาน
- ได้รับค่าจ้าง มีสวัสดิการ ผลประโยชน์ สภาพการจ้าง และการทำงานที่ดี
- มีโอกาสแสดงความคิดริเริ่ม ความสามารถ การพัฒนาก้าวหน้าในอาชีพการงาน
- ไม่ตกงาน ไม่ขาดรายได้ มีความมั่นคงในการทำงาน
ประชาชนทั่วไป
- ในฐานะผู้บริโภค ได้รับสินค้าและบริการที่ดี
ประเทศชาติ
- ส่งเสริมบรรยากาศในการลงทุน
- การขยายตัวของอุตสาหกรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ความสงบสุขในสังคม
แรงงาน , แรงงานสัมพันธ์ , กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ , พรบ แรงงานสัมพันธ์ , ลักษณะทั่วไปของแรงงานสัมพันธ์ , ความสําคัญของแรงงานสัมพันธ์ , ความหมายแรงงานสัมพันธ์ , หลักการจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ , การบริหารแรงงานสัมพันธ์ , ตัวอย่างกลยุทธ์แรงงานสัมพันธ์
ที่มา ru.ac.th